25 กันยายน 2567
ที่บ้านแม่จันหลวง บนดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงราย มีเกษตรกรประมาณ 50 ครัวเรือน ซึ่งประกอบอาชีพดั้งเดิมในการปลูกข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ ชา กาแฟอาราบิก้า ข้าวไร่ พลับ และพลัม (เชอรี่) โดยกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ประกอบด้วย ไทยใหญ่ อาข่า ลั๊วะ ลีซอ ลาหู่ จีนยูนาน เมี่ยน และไทยพื้นเมือง
การพัฒนาพื้นที่สูงและการแก้ไขปัญหาด้วยงานวิจัย
ในปี 2554 สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) ได้เข้ามาส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่บ้านแม่จันหลวง โดยเห็นศักยภาพในการปลูกกาแฟอาราบิก้า แต่เนื่องด้วยพบปัญหาการปลูกในพื้นที่ที่ให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อต้นค่อนข้างต่ำ รวมถึงกระบวนการแปรรูปเมล็ดกาแฟที่ไม่มีคุณภาพ เพราะขาดความรู้และกระบวนการแปรรูปกาแฟที่ถูกต้อง ทำให้ราคากาแฟถูกกดต่ำและปฏิเสธการรับซื้อ นอกจากนี้ ยังพบปัญหาการบุกรุกป่าเพื่อขยายพื้นที่ทำกินอย่างกว้างขวาง
โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สลองภายใต้การดำเนินงานของ สวพส. จึงได้นำงานวิจัยและองค์ความรู้ต่างๆ มาพัฒนาร่วมกับเกษตรกรและหน่วยงานเครือข่าย เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยมีการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตกาแฟ จากการปลูกในพื้นที่ว่างหรือแปลงปลูกทั่วไป มาเป็นการปลูกภายใต้ร่มเงาไม้ครอบคลุมกว่า 2,700 ไร่ รวมถึงการนำเทคโนโลยีและองค์ความรู้จากงานวิจัยมาใช้ให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ตั้งแต่กระบวนการปลูก การดูแลรักษา การแปรรูป ไปจนถึงการจำหน่ายกาแฟคุณภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
การพัฒนากาแฟในพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนตามแนวทางโครงการหลวง
นายนิวัฒน์ คำมา นักวิชาการส่งเสริมและพัฒนา สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) เปิดเผยว่า ก่อนที่ สวพส. จะเข้ามาพัฒนาพื้นที่แม่จันหลวง ดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงราย ได้มีการศึกษาและทำความเข้าใจกับชุมชนชนเผ่าต่างๆ ซึ่งประกอบด้วย 8 ชนเผ่า พบว่า เกษตรกรในพื้นที่ได้ปลูกกาแฟอยู่ก่อนแล้ว แต่ยังขาดการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ผลผลิตต่ำ และการแปรรูปเมล็ดกาแฟไม่มีคุณภาพ
สวพส. ได้นำหลักการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนตามแนวทางโครงการหลวงมาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน พร้อมทั้งสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับเกษตรกรในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ขั้นตอนการปลูก การจัดการสวน (ต้นน้ำ) การแปรรูป (กลางน้ำ) และการจำหน่าย (ปลายน้ำ) โดยรับฟังปัญหาและความต้องการของเกษตรกรและชุมชน เพื่อค้นหาสาเหตุของปัญหาและร่วมกันหาแนวทางแก้ไขอย่างเป็นระบบ
นอกจากนี้ สวพส. ยังได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดแนวทางการพัฒนาที่สอดคล้องกัน โดยนำข้อมูลจากแผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลงของชุมชนมาเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจเพื่อปรับปรุงระบบการผลิต พร้อมทั้งเลือกนวัตกรรมจากงานวิจัยที่เหมาะสมเพื่อการแปรรูปกาแฟที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สุดท้ายยังผลักดันให้การพัฒนากาแฟคุณภาพและการดูแลทรัพยากรสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นสำคัญในยุทธศาสตร์จังหวัดเชียงราย โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการผลิตและพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับสินค้าเกษตรเชิงสร้างสรรค์ภายใต้แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน
ความสำเร็จของการพัฒนาพื้นที่สูงและการปลูกกาแฟอาราบิกาในชุมชนแม่สลอง
นายไพศาล โซ่เซ เกษตรกรผู้เป็นผู้นำในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สลอง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย กล่าวถึงสถานการณ์ในอดีตของบ้านแม่จันหลวงว่า รายได้หลักมาจากการทำเกษตรกรรม เช่น การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และพลับ โดยมีพื้นที่ 1,430 ไร่สำหรับการปลูกกาแฟอะราบิกา ซึ่งขณะนั้นนำผลผลิตไปขายในจังหวัดแม่ฮ่องสอนในราคาที่ค่อนข้างต่ำ อีกทั้งยังขาดความรู้เรื่องการแปรรูปกาแฟ
เมื่อโครงการหลวง (สวพส.) เข้าดำเนินการในพื้นที่ ได้มีการนำความรู้ใหม่ๆ เข้ามาเปลี่ยนแปลงการเกษตรจากการปลูกพืชไร่และพืชผัก มาสู่การปลูกกาแฟอะราบิกาภายใต้ร่มเงาไม้ท้องถิ่น ก่อให้เกิดการรวมกลุ่มเกษตรกรในเครือข่ายผู้ปลูกกาแฟแม่สลอง ซึ่งพัฒนาไปสู่การเป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็งและมีศักยภาพในการผลิตกาแฟที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้กาแฟแม่สลองเป็นที่ยอมรับและกลายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ยั่งยืน โดยรายได้ของคนในชุมชนเพิ่มขึ้นมากกว่า 150,000 บาทต่อปี รวมถึงเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในพื้นที่สามารถสร้างรายได้รวม 29.41 ล้านบาทต่อปี ทำให้กาแฟอะราบิกากลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีชื่อเสียงและสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ พร้อมกับกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่แม่สลองอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ พื้นที่เพาะปลูกยังได้มีการปรับระบบมาปลูกกาแฟอาราบิกาใต้ร่มเงาไม้ (Shade-Grown Coffee) ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 2,771 ไร่ ภายใต้แนวคิด Zero Waste โดยเกษตรกรนำเปลือกกาแฟที่เหลือทิ้งมาผลิตเป็นปุ๋ยหมัก ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตได้มากถึง 25 ตันต่อปี อีกทั้งยังมีการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียจากการแปรรูปกาแฟ จำนวน 22 บ่อ ใน 77 ครัวเรือน สามารถบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้เฉลี่ย 2,900,000 ลิตรต่อปี แต่ละครัวเรือนยังมีเงินออมเฉลี่ยปีละ 60,000 บาท สำหรับการใช้จ่ายในครัวเรือน การจัดการพื้นที่เพาะปลูกยังส่งผลให้มีการเพิ่มพื้นที่ป่ารอบชุมชนมากกว่า 1,300 ไร่ และเกิดการอนุรักษ์ดินและน้ำอย่างยั่งยืนในพื้นที่
แหล่งที่มา : https://siamrath.co.th/n/568980